Monday 24 September 2012

มุมมองการแก้ไขปัญหาเกษตรกรทั้ง ระบบ

มุมมองการแก้ไขปัญหาเกษตรกรทั้ง ระบบ


ผู้แต่ง: 
 ดร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์

วิกฤติ เกษตรกร
         ไม่มีใครปฏิเสธว่าการเกษตรยังมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ แม้สัดส่วนรายได้ภาคเกษตรต่อรายได้ประชาชาติจะอยู่ในระดับไม่สูงนัก และไม่ใช่เพราะภาคเกษตรตกต่ำถดถอยมากมายอะไรนัก รายได้ก็ยังขึ้นๆลงๆเป็นธรรมดาผันผวนไปตามกระแสเศรษฐกิจโลก แต่เป็นเพราะภาคเศรษฐกิจด้านอื่นๆโดยเฉพาะอุตสาหกรรมการส่งออก การบริการและการท่องเที่ยวเติบโตเร็วกว่ามาก เมื่อมองตัวเลขในเชิงเปรียบเทียบทำให้ภาคเกษตรไม่ค่อยมีความสำคัญในเชิง เศรษฐกิจ และจำนวนเกษตรกรก็มีแนวโน้มลดลงเช่นเดียวกับประเทศที่พัฒนาแล้วคือจากกว่า ร้อยละ ๗๐ ในช่วงเริ่มแผนพัฒนาประเทศ มาเป็นร้อยละ ๕๐ ในช่วงแผนฯ ๕ และเหลืออยู่ราวร้อยละ ๓๐ ในปัจจุบัน หากแนวโน้มการพัฒนาการเกษตรเป็นไปแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ และไม่มีการแก้ไขปัญหาเกษตรกรอย่างจริงจัง เชื่อว่าอีกไม่เกิน ๓๐ ปี จำนวนเกษตรกรไทยจะเหลือต่ำกว่าร้อยละ ๑๐ เช่นเดียวกับประเทศในยุโรป ญี่ปุ่นและอเมริกา เพราะเกษตรกรอิสระรายเล็กรายน้อยจะค่อยๆเลิกไปหรือเปลี่ยนไปเป็นแรงงานรับ จ้างในโรงงาน ภาคกลางภาคตะวันออกอาจจะหมดไปก่อนเพื่อนเพราะที่ดินส่วนใหญ่หลุดมือจาก เกษตรกรไปแล้ว ภาคอีสานแม้เกษตรกรจะมีสัดส่วนการถือครองที่ดินอยู่สูงกว่าที่อื่นแต่ แรงกระตุ้นการลงทุนระยะยาวด้วยการปลูกยางพารา ไม้โตเร็วและพืชพลังงานอาจกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ ซึ่งจะทำให้เกษตรกรรายย่อยซึ่งมีทุนน้อยอยู่ไม่ได้ต้องขายที่ดินหรือขาย กิจการให้ผู้ประกอบการรายใหญ่แล้วผันตัวเองเป็นแรงงานเกษตรรับจ้างในที่ดิน ที่เคยเป็นของตนเอง ส่วนภาคเหนือและภาคใต้พื้นที่เกษตรที่มีศักยภาพสูงในการผลิตก็เปลี่ยนมือ เป็นสวนพืชเศรษฐกิจของผู้ประกอบการรายใหญ่ทั้งต่างชาติและในประเทศไทยและ กลุ่มรีสอร์ทไปเป็นจำนวนมากแล้ว ที่ยังเหลืออยู่บ้างคงเป็นกลุ่มเกษตรกรพันธะสัญญาแต่ก็คงอยู่ได้อีกไม่นาน เพราะต้องแบกรับความเสี่ยงในระบบการผลิตที่สูงขึ้น กลุ่มเกษตรกรที่อิงกับรายได้ข้างนอกด้วยค่าตอบแทนการประชุมค่าวิทยากรอบรม หรือทำโครงการขอรับการสนับสนุนจากภาครัฐทำนองนี้ก็พอจะเอาตัวรอดไปได้แต่ก็ จะถูกจัดการจนอ่อนแอและพึ่งตนเองได้ยาก ที่จะเหลือเป็นเกษตรกรรายย่อยที่มีอิสระในการดำเนินชีวิตจริงๆสู้กับโลกา ภิวัฒน์ได้น่าจะเป็นกลุ่มที่มีวิถีชีวิตอิงความเชื่อในธรรมชาติและหลักศาสนา ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่มีอายุค่อนข้างมากแต่ก็มีกิจกรรมสืบทอดความเชื่อและ อุดมการณ์ให้กับทายาทรุ่นใหม่
        ปัจจุบันและแนวโน้มอนาคตของเกษตรกรที่ค่อนข้างมืดมนเพราะมีข้อมูลเชิง ประจักษ์ที่สำคัญ ๕ ประการคือเรื่องที่ดินทำกิน การเข้าถึงทรัพยากร หนี้สิน การตลาดและสุขภาวะที่ทำให้เกษตรกรอยู่ไม่รอด
        ประการแรกเรื่องที่ดินทำกิน มี ๒ ประเด็นย่อย ประเด็นแรกคือเกษตรกรจำนวนมากไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง ต้องเช่าที่ดินทำกิน ประเด็นที่สองเกษตรกรที่ยังมีที่ดินจำนวนมากแต่ละปีต้องสูญเสียที่ดินทำกิน ให้กับสถาบันการเงิน ข้อมูลอย่างไม่เป็นทางการจากกรณีการฟ้องยึดที่ดินซึ่งเป็นทรัพย์ประกันของ สมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรรมและเกษตรกรทั่วไป ที่ดินเหล่านี้กลายเป็นเอนพีเอหรือสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ในการ ผลิต ธนาคารก็ยังฟ้องเกษตรกรที่หนี้เสีย และก็มักลงเอยด้วยการยึดที่ดินซึ่งเป็นทรัพย์ประกันอยู่ทุกวันนี้ จำนวนเกษตรกรที่สูญเสียที่ทำกินและต้องหาเช่าที่ดินทำการเกษตรจึงเพิ่มขึ้น ปีละไม่น้อยกว่าสี่ห้าหมื่นรายถ้าคิดเฉลี่ยที่ดินเกษตรกรรายละ ๒๐ ไร่ก็จะประมาณ ๑ ล้านไร่ต่อปี ยังไม่รวมที่ดินที่เกษตรกรรายย่อยที่ทำนากุ้ง เลี้ยงปลา ปลูกไม้โตเร็ว ที่ต้องขายที่ดินและกิจการให้บริษัทเอกชนการเกษตรขนาดใหญ่และผันตัวเองเป็น แรงงานในฟาร์ม
        ประการที่สองการเข้าไม่ ถึงทรัพยากรการผลิต โดยเฉพาะน้ำ ทะเล ป่า และทรัพยากรพันธุกรรมทั้งหลายที่อยู่ในป่า ซึ่งเป็นฐานชีวิตของเกษตรกรและชาวประมงขนาดเล็ก ทำให้เกษตรกรรายย่อยขาดศักยภาพในการเพิ่มผลผลิต เกษตรกรชายเขตป่าถูกตัดขาดจากทรัพยากรในป่า ชาวประมงพื้นบ้านถูกเรืออวนรุนอวนลากทำลายแหล่งหากิน พันธุกรรมพื้นเมืองทางการเกษตรถูกทำลายลงด้วยความเข้าใจผิดของนักวิชาการว่า เป็นของด้อยค่าจนเกษตรกรไม่สามารถใช้พันธุ์พืชพันธุ์สัตว์พื้นเมืองได้อีก แหล่งน้ำธรรมชาติเพื่อการเกษตรถูกจัดการด้วยเขื่อนและอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ และควบคุมโดยรัฐทำให้เกษตรกรเข้าไม่ถึงแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร ที่ดินรอบแหล่งน้ำสาธารณะหลายแห่งถูกบริษัทการเกษตรขนาดใหญ่กว้านซื้อแล้ว ยึดแหล่งน้ำสาธารณะเป็นของส่วนตัว
        ประการที่สามเรื่องหนี้สิน มี ๒ ประเด็น ประเด็นแรกหนี้สถาบันการเงินในระบบและประเด็นที่สองหนี้นอกระบบ ซึ่งหนี้ทั้งสองระบบเชื่อมโยงกันอย่างใกล้ชิด เริ่มจากหนี้สินเกษตรกรในระบบเพิ่มขึ้นรวดเร็วมาก เพิ่มในอัตราที่สูงกว่าหนี้สินครัวเรือนทั่วไปด้วยวิธีการหมุนหนี้ การกู้หนี้ครั้งแรกเป็นจำนวนไม่มากแต่รายได้จากการเกษตรก็ไม่พอใช้หนี้จึง ต้องกู้หนี้ครั้งที่สองเพื่อเอามาใช้หนี้และดอกเบี้ยหนี้กู้ครั้งแรกและ เหลือส่วนหนึ่งไว้ใช้สอย กู้ครั้งที่สามก็เพื่อใช้หนี้เงินต้นและดอกเบี้ยจากการกู้ครั้งที่สองและ เหลือส่วนหนึ่งไว้ใช้สอย เมื่อกู้จนยอดหนี้สินชนเพดานทรัพย์ประกันไม่สามารถหมุนเงินกู้ในระบบต่อไป ได้ ก็ต้องดิ้นรนกู้เงินกลุ่มเงินกองทุนในหมู่บ้านมาหมุนต่อ สุดท้ายก็ต้องไปกู้เงินนอกระบบดอกเบี้ยสูงร้อยละ ๕-๒๐ ต่อเดือนมาผ่อนใช้หนี้ในระบบ ยอดหนี้เกษตรกรจึงสูงขึ้น ๒-๓ เท่าตัวในช่วงสี่ห้าปีที่ผ่านมาแต่ก็ไม่มีนักวิจัยสถาบันไหนที่สนใจศึกษาตัว เลขเงินกู้นอกระบบเหล่านี้ อย่างไรก็ดีแม้ยังไม่มีรายงานหนี้สินของเกษตรกรรวมทั้งประเทศ แต่เมื่อลองคำนวณจากการซื้อหนี้ของกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรเมื่อต้นปี ๒๕๕๐ พบว่าเกษตรกรเป็นหนี้โดยประมาณ ๑๗๒,๓๗๕ บาท/ราย เกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูจำนวน ๖.๓ ล้านคน ถ้ารวมเกษตรกรที่ยังไม่ได้จดทะเบียนเป็นสมาชิกกองทุนฟื้นฟูฯอีกจำนวนหนึ่ง รวมกันอาจจะถึง ๑๐ ล้านคน คิดอย่างหยาบๆก็จะเป็นหนี้รวมกันไม่น่าจะน้อยกว่า ๑ ล้านล้านบาท ซึ่งน่าจะถึงครึ่งหนึ่งของหนี้สาธารณะซึ่งมีประมาณ ๒.๕ ล้านๆบาท หรือ หนึ่งในสี่ของ GDP (ตัวเลขของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ปี ๒๕๔๙)
        ประการที่สี่เรื่องตลาด ตลาดเป็นของพ่อค้าแต่การลงทุนและความเสี่ยงเป็นของเกษตรกร เกษตรกรจึงไม่มีส่วนในการตัดสินใจกำหนดราคาตลาด ราคาผลผลิตการเกษตรจึงไม่เป็นธรรม ไม่แน่นอน ขึ้นๆลงๆตามอำนาจซื้อของพ่อค้าขณะที่ราคาปัจจัยการผลิตเพิ่มสูงขึ้นโดยที่ ไม่เคยลดลง ตัวอย่างเช่นราคาข้าวเปลือก ค่อนข้างคงที่ในช่วง ๔ ปีที่ผ่านมา (๒๕๔๖-๒๕๔๙) แต่ราคาปุ๋ย ขึ้นมาเท่าตัว ราคาผลไม้ก็เช่นกันปีนี้ผลไม้ดกแต่ราคาตกต่ำขายไม่คุ้มทุน เกษตรกรที่เลี้ยงปลาในกระชังใช้เวลาเลี้ยงปลานานกว่าหกเดือน ขายปลาหนึ่งกิโลกรัมขาดทุนสี่ห้าบาท พ่อค้ารับซื้อปลาไปขายต่อครึ่งวันได้กำไรกิโลละไม่ต่ำกว่า ๑๐ บาท ปัญหาเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าราคาผลผลิตเกษตรจะถูกกดลงต่ำสุดเป็นช่วงเวลา หนึ่งอาจเป็น ๒-๕ ปี พอเกษตรกรส่วนใหญ่เตรียมจะเลิกการผลิตพ่อค้าก็จะดั๊มราคาขึ้นมากระตุ้นให้ เกษตรกรตาโตอยากได้เงินหันกลับมากู้เงินลงทุนทำการผลิตต่อไปอีก การเคลื่อนไหวของราคาตลาดในปัจจุบันจึงเป็นแบบเลี้ยงเกษตรกรไม่ให้โต เกษตรกรอ่อนแอก็ล้มไปก่อน เกษตรกรที่เข้มแข็งกว่าก็จะค่อยๆล้ม เกษตรกรที่อยู่รอดได้ก็ต้องปรับตัวหันมาเป็นพ่อค้าคนกลางบ้าง เป็นตัวแทนจำหน่ายอาหารยาและปุ๋ยบ้าง ดังตัวอย่างเกษตรกรเลี้ยงกุ้ง เลี้ยงปลากระชัง เป็นต้น บ้างก็อาศัยเงินที่ลูกหลานที่ทำงานในเมืองส่งให้เป็นรายเดือน
        ประการที่ห้าเรื่องสุข ภาวะ เคยนำเกษตรกรสมาชิกเครือข่ายอาชีพเกษตรกรแม่น้ำปราจีนบุรีมาตรวจวัดสารเคมี ในเลือดพบว่าเกษตรกรร้อยละ ๗๐ มีสารเคมีในเลือดในระดับเสี่ยงและเป็นอันตรายต่อสุขภาพ การพูดคุยกับเครือข่ายเกษตรกรอื่นทั่วประเทศก็มีสถานการณ์เช่นเดียวกัน ทุกฤดูการผลิตไม่ว่าจะเป็นข้าว พืชไร่ พืชสวน หากได้ออกไปในไร่นาก็จะได้กลิ่นสารเคมีกำจัดหญ้ากำจัดแมลงทั่วทุกหนแห่ง เกิดผลกระทบทั้งเกษตรกรเองและผู้บริโภค เกษตรกรเองหนักกว่าเพื่อนเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงในฐานะเป็นผู้ใช้ยาและ เป็นผู้บริโภคผลผลิตด้วย

ปรากฏการณ์ปัญหาเกษตรกร
        สภาพปัญหาหลักของเกษตรกรเชื่อมโยงกันเป็นวงจรและเกิดขึ้นซ้ำซากตลอดเวลาที่ เกษตรกรทำการผลิต ยิ่งผลิตมากก็ยิ่งขาดทุนมาก ยิ่งขยันมากยิ่งขาดทุนมาก ทำให้เกษตรกรปัจจุบันอยู่ได้ลำบาก ลูกหลานเกษตรกรเห็นสภาพทุกข์ของพ่อแม่จึงไม่ต้องการสืบทอดวิถีการเกษตรอีก ต่อไป เกษตรกรรายย่อยในวันนี้ที่อายุยังน้อยเฉลี่ยราวสี่สิบปี ถึงแม้จะยังไม่สูญเสียที่ดิน ทำการผลิตได้ตามปรกติแต่เชื่อว่าต้องยุติบทบาทตัวเองในอีกไม่เกิน ๓๐ ปีข้างหน้าเมื่อถึงวัยชราไม่มีศักยภาพในการทำการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกต่อไปและไม่มีผู้สืบทอด ส่วนผู้ที่ต้องขาดทุนซ้ำซาก เป็นหนี้สิน และสุดท้ายต้องสูญเสียที่ดินที่ใช้เป็นทรัพย์ประกันก็อาจจะต้องเลิกอาชีพการ เกษตรเร็วยิ่งขึ้น ผู้ที่สุขภาพไม่ดีจากการใช้สารเคมีมากก็อาจต้องเลิกหรือขายที่เพราะสุขภาพ ไม่แข็งแรงพอที่จะทำการผลิตได้ โดยสรุปสภาพปัญหาที่ดิน ฐานทรัพยากร หนี้สิน ตลาด และสุขภาพ ทำให้เกษตรกรอ่อนแอทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม สุขภาพกายและจิตใจก็อ่อนแอ จนต้องเลิกอาชีพนี้ไปหรือเหลือน้อยเหมือนเกษตรกรในยุโรปทุกวันนี้
        หากวิเคราะห์เหตุปัจจัยรากเหง้าที่ทำให้เกิดปัญหากับเกษตรกรและการเกษตรของ ประเทศให้รอบด้านก็จะต้องวิเคราะห์ทั้งสองด้าน คือด้านในหรือปัจจัยที่เกิดจากภายในตัวเกษตรกรเอง และปัจจัยสภาพแวดล้อมภายนอก สำหรับเหตุปัจจัยภายในตัวเกษตรกรเองคือความโลภหวังรวย และปัจจัยภายนอกคือสภาพแวดล้อมในระบบโลกาภิวัฒน์ได้แก่เงิน ข่าวสารเทคโนโลยีและอำนาจทางการเมืองการทหาร ที่ทั้งกระตุ้นจูงใจและบีบบังคับให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรมไป มุ่งหาเงิน ลงทุนและบริโภคอย่างฟุ่มเฟือยเกินความจำเป็น
มองเหตุปัจจัยจากภายใน แก้ที่เกษตรกร
        อกุศลมูลอันเป็นรากเหง้าของกิเลสได้แก่ความโลภโกรธหลงทำให้เกิดอกุศลธรรม ระดับปรากฏการณ์ ๓ ประการที่ทำให้เห็นสิ่งผิดเป็นถูกคือ ตัณหาทำให้เกิดทำให้อยาก อยากรวย อยากได้โน่นอยากได้นี่ มานะคือความทะนงตนว่าสิ่งโน่นสิ่งนี่เป็นของตน มุ่งครอบครองแข่งขันเอาชนะทุกรูปแบบถือตนว่าแน่กว่าใครจึงไม่ฝึกตนไม่เรียน รู้ทางเลือกใหม่ๆ และทิฎฐิซึ่งเป็นมิจฉาทิฏฐิคือเห็นชั่วเป็นดีเห็นสารเคมีเป็นยาวิเศษ อกุศลธรรมทั้งปวงทำให้ความคิดและพฤติกรรมเกษตรกรเปลี่ยนไปจากเดิมที่เคยหา อยู่หากินอยู่ร่วมกับธรรมชาติแบบพอมีพอใช้ มาเป็นซื้อกินจึงต้องหาเงินให้เท่าหรือรวยยิ่งกว่าคนอื่นทำให้ไม่รู้จักพอ ใจใหญ่ใจโต เบียดบังทำลายขายธรรมชาติ เมื่อมีปัจจัยภายนอกมากระตุ้นล่อหลอกให้เชื่อให้ทำก็จะตามตามกระแสเงิน เริ่มด้วยการลงทุนซื้อเทคโนโลยีและปัจจัยการผลิตทุกอย่าง คนเริ่มทำก่อนก็มักจะได้กำไรดีมีเงินหมุนผ่านมือเยอะแต่ได้ไม่กี่คนและหา เงินได้ไม่นาน ตัวอย่างเช่นมะม่วงหิมพานต์ กุ้งกุลาดำ และการปลูกพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยวชนิดต่างๆ หาเงินได้ง่ายก็ใช้ง่ายและบริโภคฟุ่มเฟือย เงินที่ได้ก็ไม่เหลือเก็บ คนทำที่หลังก็มักขาดทุนเพราะต้นทุนเริ่มสูงขึ้นแต่ราคาสินค้าต่ำลงเพราะการ แข่งขันสูงขึ้น
การแก้ปัญหาภายในต้องเริ่มต้นด้วยการปรับความคิดและ พฤติกรรมของเกษตรกร ให้คิดวิเคราะห์เป็นบนฐานข้อมูลและความเป็นจริง เกษตรกรต้องยอมรับก่อนว่าการวิ่งตามโลกอย่างไม่ลืมหูลืมตาหวังรวยต้องเผชิญ กับระบบปลาใหญ่กินปลาเล็ก คนอ่อนแอเป็นเหยื่อคนแข็งแรงกว่าสุดท้ายก็ต้องประสบกับวิบัติในที่สุด การคิดเป็นทำเป็น พึ่งตนเองได้ ค่อยๆทำค่อยๆขยาย และบริโภคในสิ่งที่จำเป็นจะช่วยให้เกษตรกรอยู่รอดระยะยาวในสถานการณ์โลกาภิ วัตน์ได้

มองจากเหตุปัจจัยภายนอก แก้ที่ตัวปัญหา 
         เมื่อรัฐมุ่งพัฒนาไปตามแนวทางกระแสหลักของโลกาภิวัฒน์ การศึกษาก็ต้องออกนอกระบบให้แข่งขันเชิงการค้ากับโลกตะวันตกได้ การใช้พลังงานก็ต้องเปลี่ยนจากแรงงานสัตว์และพลังงานลมติดรหัสวิดน้ำมาเป็น เครื่องจักรกลใช้น้ำมันยนต์ การเดินทางติดต่อกับภายนอกก็ต้องซื้อรถเป็นยานพาหนะส่วนตัวมาใช้สอยส่วนตัว แทนการเดินทางในระบบขนส่งมวลชน ตลอดจนปัจจัยการผลิตที่เป็นสารเคมีนำเข้าทั้งปุ๋ยและยาทำให้ต้นทุนชีวิตและ ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ชีวิตที่แพงขึ้นทุกๆด้านบีบคั้นให้เกษตรกรต้องหาเงินมาใช้จ่ายค่าการศึกษา เล่าเรียนบุตรหลาน ค่าพลังงานทำการเกษตร ค่าปัจจัยการผลิต และเมื่อเหนื่อยล้าก็ต้องจ่ายเป็นค่าอบายมุขค่าเหล้าค่าบุหรี่ค่าบันเทิงของ ฟุ่มเฟือยเพื่อคิดจะกลบเกลื่อนความทุกข์ชั่วขณะเพียงเท่านั้น หมดฤทธิ์เหล้ายาก็กลับมาทุกข์ มีมากที่ยิ่งทุกข์หนักไปกว่าเดิม
        แม้จะรู้ว่าปัญหาหลักทั้งห้าประการคือที่ดิน การเข้าถึงทรัพยากร หนี้สิน ตลาดและราคาผลผลิต และสุขภาพเป็นปัญหาปลายเหตุ แต่ด้วยวิกฤติของปัญหาทำให้ต้องมีการแก้ไขเร่งด่วนด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ดีหากแก้ทีละปัญหา ก็ไม่รู้จบ เพราะเกษตรกรแต่ละคนมีปัญหาไม่เหมือนกัน การแก้ปัญหาด้านใดด้านหนึ่ง ไม่ได้ช่วยให้ปัญหาด้านอื่นๆได้รับการแก้ไขไปด้วย เกษตรกรหลายรายที่สูญเสียที่ดินและได้รับความช่วยเหลือให้มีที่ดินทำกินได้ อีกครั้ง ก็ต้องสูญเสียที่ดินซ้ำสองจากหนี้สินอีกเช่นเคย หน่วยงานที่ให้ความสำคัญกับหนี้สิน พยายามใช้มาตรการต่างๆมาช่วยเหลือ ทั้งพักชำระหนี้ ตัดลดยอดหนี้ลงครึ่ง บ้างก็สนับสนุนให้เกิดการออม แต่ก็ช่วยได้ระดับหนึ่ง ไม่สามารถแก้ปัญหาที่เกิดเชื่อมโยงกันเป็นวงจรทุกฤดูกาลผลิตได้
        ความพยายามในเชิงหลักการที่มีส่วนใกล้เคียงกับความเป็นจริงคือวิธีการของกอง ทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ในการซื้อหนี้ การฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร แต่ในทางปฏิบัติก็ไม่สามารถทำให้เป็นจริงได้เพราะฝ่ายเจ้าหน้าที่ไม่ค่อยให้ ความร่วมมือ และอีกประการหนึ่งจำนวนหนี้ก็มีมากจนเกินกำลังที่รัฐบาลจะหาเงินมาซื้อหนี้ ได้ เหตุผลเบื้องหลังที่สำคัญที่ฝ่ายเจ้าหนี้ไม่ยอมเพราะเขายังเชื่อว่ามี เกษตรกรจำนวนไม่น้อยที่เป็นลูกหนี้ที่ดีและยังเชื่อมั่นกับระบบการให้กู้ยืม ของธนาคารเหล่านี้ได้ และก็หาทางจัดการหนี้ดีๆด้วยตัวเองดังเช่นกรณี ธกส.ที่กำลังปรับโครงสร้างหนี้เกษตรกรอยู่ในปัจจุบัน สำหรับในด้านรัฐบาลเชื่อว่าคงไม่สามารถหาหลักประกันได้ว่าเกษตรกรจะไม่ก่อ หนี้อีก ตราบใดที่ปัญหาการตลาดและความเสี่ยงในการผลิตของเกษตรกรยังไม่ได้รับหลัก ประกัน
แต่ทำไมเกษตรกรจึงไปฝากความหวังในการแก้ไขปัญหาไว้กับรัฐบาลเกิน ไป ไปทุ่มความหวังทั้งหมดไว้กับการที่จะให้รัฐนำเงินมาซื้อหนี้ซึ่งดูนโยบาย พรรคการเมืองต่างๆแล้วยังไม่เห็นว่าจะเป็นจริงได้
ทางออกของเกษตรกร จากวงจรแห่งความล้มเหลวซ้ำซาก 
       
       ผู้เขียนมีข้อเสนอที่จะนำไปสู่การพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อแก้ไขปัญหาเกษตรกร ดังนี้
ในเชิงหลักการ 
      ๑) ต้องมีความเชื่อมั่นในคุณค่าของการเกษตรและเกษตรกรว่า เป็นฐานรากสำคัญของประเทศ หากไร้การเกษตรประเทศไทยจะกลายเป็นประเทศที่อ่อนแอและพึ่งตนเองไม่ได้แม้แต่ ด้านอาหารและยา
      ๒) ปัญหาการเกษตรทุกปัญหาแก้ไขได้ด้วย วิถีทางที่สร้างสรรค์และเป็นระบบ แม้บางประเด็นจะต้องใช้เวลายาวนานก็ตาม
      ๓) เกษตรกรต้องแก้ปัญหาของเกษตรกรเอง ไม่มีใครแก้ไขปัญหาเกษตรกรได้นอกจากตัวเกษตรกรเอง ยิ่งมีคนนอกเข้ามาแก้ก็ยิ่งทำให้ปัญหายุ่งยากซับซ้อนขึ้นไปอีก
      ๔) รัฐต้องสนับสนุนเกษตรกรให้แก้ปัญหาตนเอง รัฐต้องมีบทบาทเป็นพี่เลี้ยง ประคับประคองให้กลุ่มองค์กรเกษตรกรลุกขึ้นได้ เดินได้ วิ่งได้ โดยไม่ต้องไปอุ้มไปสงเคราะห์แก้ปัญหาเฉพาะหน้า
      ๕) ภาคธุรกิจเอกชน ต้องไม่เอารัดเอาเปรียบเกษตรกร ต้องร่วมรับความเสี่ยงกับเกษตรกร โดยเฉพาะในกรณีหนี้ เจ้าหนี้ต้องให้ความร่วมมือในการแก้ปัญหา
ในเชิงโครง สร้างทางสถาบัน
      มีข้อเสนอ ๓ ประการเพื่อนำไปสู่การปรับโครงสร้างอำนาจและการพัฒนาสถาบันเกษตรกรให้มีความ เข้มแข็งและมีความสามารถในการจัดการปัญหาของตนเอง ได้แก่
      ๑) สถาบันเกษตรกรหรือสภาเกษตรกร การพัฒนายกระดับการทำงานของเกษตรกร ควรจะต้องยกระดับการทำงานในระดับกลุ่มและองค์กรเครือข่ายต่างๆให้เป็นสถาบัน ในรูปแบบสภาเกษตรกร ให้มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดนโยบายและแนวทางการจัดการปัญหาของเกษตรกรด้วยตน เอง โดยเปิดโอกาสให้ทุกกลุ่มเข้าร่วมแสดงความคิดเห็น จึงจะทำให้เสียงของเกษตรกรมีพลังและข้อเสนอของเกษตรกรได้รับการพิจารณาจาก ฝ่ายรัฐบาลอย่างจริงจัง
      ๒) สถาบันการเงินเกษตรกรหรือธนาคารเกษตรกร การแก้ปัญหาหนี้สินและการฟื้นฟูพัฒนาระบบการผลิตของเกษตรกรในปัจจุบันทำได้ ยาก ไม่มีพลังเพราะต่างคนต่างทำ โดยเฉพาะ ธกส. ซึ่งเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ของเกษตรกรกำลังปรับโครงสร้างหนี้เกษตรกรราว ๑ แสนรายในวงเงินประมาณ ๔ หมื่นล้านบาท ส่วนสถาบันการเงินของเกษตรกรเองเช่นสหกรณ์ออมทรัพย์และกลุ่มออมทรัพย์ต่างๆ มีเงินรวมกันไม่น้อยกว่า ๔ แสนล้านบาท (ข้อมูลกรมส่งเสริมสหกรณ์ ๒๕๕๐) และก็พยายามยกระดับการบริหารจัดการสหกรณ์และกลุ่มออมทรัพย์ให้เข้มแข็ง ไม่รวมรวมทั้งธนาคารพานิชย์อื่นๆ ซึ่งก็มีแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้ของตนเอง แต่โดยภาพรวมเงินที่มีอยู่ในสถาบันการเงินต่างๆโดยเฉพาะสหกรณ์และกลุ่มออม ทรัพย์ยังไม่สามารถนำเงินมาซื้อหนี้หรือฟื้นฟูเกษตรกรได้จริงเพราะเหตุผล ๒ ประการ ประการแรกปัญหาความสามารถในการชำระหนี้ของเกษตรกรต่ำ และประการที่สองความสามารถในการบริหารจัดการการเงินของสถาบันการเงินเกษตรกร มีต่ำ
ข้อเสนอในเชิงสถาบัน จึงต้องรวมพลังการบริหารจัดการการเงินเข้าด้วยกัน ใช้กองทุนหรือกลุ่มออมทรัพย์ในระดับหมู่บ้านเป็นหน่วยจัดการการเงินย่อย และรวมหน่วยย่อยเหล่านี้ทั่วประเทศเข้าด้วยกัน ก็จะช่วยหมุนเงินลงไปซื้อหนี้และฟื้นฟูเกษตรกรได้มากกว่าที่แยกกันทำอยู่ใน ปัจจุบัน อนึ่งหากรวมตัวเป็นสถาบันการเงินของเกษตรกรได้ และมีการพัฒนาระบบการออมที่ดี เช่นออมวันละ ๑-๒ บาง เกษตรกรก็จะมีเงินออมไหลเข้าสถาบันเกษตรกรเองวันละไม่น้อยกว่า ๑๐ ล้านบาทหรือปีละกว่า ๓๐๐๐ ล้านบาท ถ้าทำได้เงินจำนวนนี้ก็มากพอที่จะซื้อหนี้และฟื้นฟูเกษตรกรได้ปีละไม่ต่ำ กว่า ๒ หมื่นคนแล้ว
       ๓) สถาบันวิจัยพัฒนาของเกษตรกร เมื่อเกษตรกรเชื่อฟังคนอื่นเข้ามาแนะนำโดยละทิ้งความรู้ภูมิปัญญาของตนเอง เมื่อเกิดปัญหาเกษตรกรก็ไม่สามารถจัดการปัญหาได้เองต้องพึ่งความรู้ภาย นอกอยู่ตลอดเวลาการเกษตรจึงไม่ยั่งยืน การศึกษาความรู้และภูมิปัญญาพื้นบ้านของเกษตรกรโดยสถาบันวิชาการหลายแห่งชี้ ให้เห็นว่าการเกษตรกรรมจะยั่งยืนต้องอาศัยความรู้ภูมิปัญญาพื้นบ้านเป็นฐาน และพัฒนาความรู้ใหม่ๆขึ้นมาต่อยอด จึงเสนอให้ยกระดับงานวิจัยไท้บ้านของเกษตรกรขึ้นเป็นสถาบันวิจัยพัฒนาของ เกษตรกร เพื่อทำงานศึกษาวิจัยสนองตอบปัญหาความต้องการของเกษตรกรโดยตรง
ในเชิง กระบวนการ
       กระบวนการแก้ปัญหา ต้องขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง เริ่มด้วยการ
       ๑) รวมคน รวมองค์กร เข้าด้วยกัน ทำความเข้าใจปัญหาเกษตรกรทั้งระบบอย่างจริงจัง ในรูปแบบสภาเกษตรกร ชื่อสภาเกษตรกรแห่งชาติอาจดูเป็นการรวมศูนย์แต่ไม่ต้องไปสนใจรูปแบบ ส่วนที่น่าสนใจคือโอกาสที่เกษตรกรทุกกลุ่มจะรวมตัวกัน และร่วมกันทำงานอย่างมีหลักมีเกณฑ์ และผลักดันข้อเสนอเชิงนโยบายไปสู่รัฐบาลได้จริง
       ๒) ยกระดับการบริหารจัดการองค์กรทางการเงิน โดยรวมเงินออม เงินกลุ่มออมทรัพย์ สหกรณ์การเกษตร และองค์กรการเงินของเกษตรกรทุกรูปแบบ ไม่ได้เอาเงินมากองรวมกันแล้วรวมศูนย์การบริหาร แต่เป็นการสร้างระบบการจัดการร่วมเพื่อแก้ปัญหาที่ใหญ่กว่าปัญหาระดับกลุ่ม ระดับชุมชนระดับเครือข่ายให้ได้
       ๓) วางระบบบริหารจัดการเงิน ในระยะยาวอาจจะต้องจัดตั้งสถาบันการเงินของเกษตรกรขึ้นมาเอง ในรูปแบบธนาคารเกษตรกรหรือธนาคารเพื่อชุมชน หามืออาชีพมาบริหารเพื่อประโยชน์ของเกษตรกร
       ๔) เอาเงินที่เกษตรกรออมมาทำประโยชน์ให้เกษตรกร ทำอย่างน้อย ๒ อย่าง อย่างแรกซื้อหนี้เกษตรกรและผ่อนส่งดอกเบี้ยต่ำระยะยาว อย่างที่สองให้รัฐบาลกู้ดอกเบี้ยสูงเพื่อนำเงินมาทำ ๓ อย่างคือ ๑) ซื้อที่ดินมากระจายการถือครองที่ดินให้เกษตรกรเป็นหลักประกันว่าเกษตรกรทุก คนต้องมีที่ดินทำกินขั้นพื้นฐานอย่างน้อย ๓-๕ ไร่ทุกคน ๒) เอาเงินมาซื้อหนี้เกษตรกรออกมาจากธนาคาร โอนหนี้มายังธนาคารเกษตรกร ๓) เอาส่วนต่างของดอกเบี้ยเงินกู้ยืมส่วนหนึ่งมาทำระบบสวัสดิการเกษตรกร ให้เกษตรกร รัฐ และธนาคารเกษตรกรออกคนละส่วน เพื่อเป็นหลักประกันให้กับเกษตรกรยามสิ้นไร้เรี่ยวแรงทำการเกษตร
       เกษตรกรที่ถูกยกย่องเป็นกระดูกสันหลังของชาติได้ผลิตอาหารเลี้ยงสังคมมายาว นาน จนกระดูกผุกร่อนอ่อนล้าไร้เรี่ยวแรงที่จะลุกขึ้นมาต่อสู้กับปัญหาที่ซับซ้อน ได้ด้วยตัวเองตามลำพัง หากไม่ได้รับความช่วยเหลืออย่างจริงจังจากรัฐบาลในระยะแรก กระบวนการคุ้มครองฟื้นฟูพัฒนาเกษตรกร ก็คงเกิดขึ้นได้ยาก
       รัฐบาลชุดต่อไปจึงต้องผลักดันกฎหมายสภาเกษตรกร ผลักดันกฎหมายเกี่ยวกับการเงิน การปรับปรุงกฎหมายด้านสหกรณ์ และกฎหมายเกี่ยวกับการเงินนำไปสู่การจัดตั้งธนาคารเกษตรกรหรือธนาคารเพื่อ เกษตรกรและชุมชน และพัฒนาระบบสวัสดิการเกษตรกร รวมทั้งการปรับปรุงกฎหมายให้เกษตรกรเข้าถึงทรัพยากรที่ดินและน้ำ ให้เกษตรกรมีที่ดินทำกิน มีน้ำใช้ทำการเกษตรและเข้าถึงทรัพยากรในป่าชุมชน เพียงเท่านี้เกษตรกรและภาคเกษตรก็จะอยู่ได้ มีความสามารถในการปรับปรุงระบบการผลิต มีความสามารถในการจัดการหนี้สินเพื่อการผลิต และมีความสามารถในการจัดสวัสดิการเกษตรกร และอยู่รอดเท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลกได้เอง

       หมาย เหตุ : บทความนี้เป็นการทดลองเขียนความคิดเพื่อแก้ปัญหาของเกษตรกร จากประสบการณ์การลงไปทำงานกับเกษตรกรที่บ้านเกิดปราจีนบุรี และเข้าเป็นสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในคณะทำงานกระจายรายได้ และคณะทำงานเฉพาะกิจพิจารณา พรบ.กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร และ คณะกรรมาธิการพิจารณาร่าง พรบ.สภาการเกษตรแห่งชาติ รวมทั้งการยกร่าง พรบ.สภาเกษตรกรแห่งชาติขึ้นมาเสนอต่อเกษตรกรเครือข่ายต่างๆ ตั้งแต่สิงหาคม ๒๕๔๘ เป็นต้นมา อ่านแล้วโปรดวิจารณ์ตรงๆแรงๆแล้วกรุณาแจ้งความเห็นมาที่ผมด้วย จักขอบคุณยิ่งครับ

0 comments:

Post a Comment